การพิจารณาวินิจฉัยข้อกฎหมายลักษณะของงานเป็นการตรวจสอบเอกสารต่างๆ หรือ พิจารณาข้อหารือต่างๆ ที่หน่วยงานภายในสังกัดของมหาวิทยาลัย เสนอเข้ามาไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบเอกสาร หรือข้อหารือในเรื่องเกี่ยวกับ กฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือเอกสาร อื่นๆ ของมหาวิทยาลัยหรือเป็นเรื่องกฎหมาย กฎ ระเบียบ ของทางราชการ ตลอดจนเอกสารต่างๆ ที่ทางราชการเวียนให้ทราบ อาทิ มติครม. ซึ่งในการพิจารณาตรวจสอบเอกสารหรือข้อหารือในแต่ละเรื่องจะพิจารณาตรวจสอบเรื่องต่างๆ ที่มีการเสนอเข้ามาว่าเกี่ยวข้องด้วยกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือ เอกสารในเรื่องใด เคยมีการตรวจสอบหรือมีการตอบข้อหารือในลักษณะดังกล่าวหรือไม่ ถ้าไม่มีอาจใช้ดุลยพินิจการตีความหรือการแปลความตามตัวอักษรหรือตามเจตนารมณ์ของกฎ ระเบียบนั้นๆ แล้วแต่กรณี หากกรณีเป็นกฎระเบียบของทางราชการ ถ้าพิจารณาแล้วยังไม่ได้ข้อยุติอาจหารือหรือหาข้อมูลไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อยุติในเรื่องดังกล่าว อาทิ ปัญหาในทางปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลัง อาจต้องหารือไปยังกระทรวงการคลังซึ่งเป็นหน่วยงานที่บังคับใช้ระเบียบ เป็นต้น จากนั้นจะทำความเห็นเสนอมหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณา หากเห็นชอบตามความเห็นดังกล่าว ก็จะแจ้งผลการพิจารณานั้นต่อหน่วยงานที่เสนอเรื่องเข้ามาเพื่อทราบ หรือหากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นๆ ด้วย ก็จะเสนอให้เวียนผลการพิจารณานั้นให้ทุกหน่วยงานสังกัดของมหาวิทยาลัยทราบ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติที่ถูกต้องต่อไป
การพิจารณาร่างกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ และคำสั่ง ที่หน่วยงานของมหาวิทยาลัยเสนอมาจะพิจารณาตรวจสอบว่าร่างที่เสนอมาดังกล่าวเป็นเรื่องที่จัดทำขึ้นใหม่ หรือเป็นการแก้ไขปรับปรุงให้ต่างไปจาก กฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่งที่มีผลใช้บังคับอยู่แล้วในขณะนั้น โดยการตรวจสอบจากบันทึกที่หน่วยงานเสนอมาหรือตรวจสอบจากกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับของมหาวิทยาลัยที่มีผลใช้บังคับอยู่ขณะนั้น หากยังคลุมเครือไม่ชัดเจนอาจสอบถามจากหน่วยงานที่ได้เสนอเรื่องเข้ามา จากนั้นจะได้พิจารณาในขั้นตอนต่อไปดังนี้
2.1 กรณีเป็นกฎหมาย ได้แก่ พระราชบัญญัติพระราชกฤษฎีกาหรือประกาศกระทรวงการอุดมศึกษา จะตรวจสอบและยกร่างกฎหมายดังกล่าว ขั้นตอนต่อไปจะนำเสนอที่ประชุมคณบดีและสภามหาวิทยาลัย เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยลำดับหลังจากผ่านความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยแล้วจะนำเสนอสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อพิจารณาในขั้นตอนต่อไป ในกรณีที่เป็นการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาและประกาศกระทรวงการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี จากนั้นจะเป็นการตรวจร่างกฎหมายโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อเสร็จสิ้นแล้วจะเสนอกลับไปคณะรัฐมนตรีและเมื่อผ่านความเห็นชอบแล้ว จะทูลเกล้าถวายในหลวงทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วจึงนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีผลบังคับใช้ต่อไป สำหรับร่างพระราชบัญญัติ จะต้องผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ก่อนทูลเกล้าถวายในหลวงทรงลงพระปรมาภิไธย แล้วจึงนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
2.2 กรณีเป็นร่าง กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศ ที่จัดทำขึ้นใหม่ จะพิจารณาตรวจสอบว่าตามร่างที่หน่วยงานเสนอมา เกี่ยวด้วยเรื่องใด และเคยมี กฎ ระเบียบ ข้อบังคับหรือประกาศ ในลักษณะเดียวกันกับของหน่วยงานอื่นๆ ที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ก.บ.ม. หรือสภามหาวิทยาลัยแล้วหรือไม่ หากกรณีมี กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศ ซึ่งมีรูปแบบหรือมีลักษณะเดียวกัน ก็จะนำกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศนั้นๆ มาพิจารณาเทียบเคียงกับร่างที่หน่วยงานเสนอมาโดยการยึดหลักการตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศ ที่ประกาศใช้แล้วเป็นฐานในการพิจารณาโดยในการตรวจสอบอาจให้ความเห็นหรือตั้งข้อสังเกต พร้อมทั้งแก้ไขร่างที่เสนอมาให้เป็นไปตามระเบียบงานสารบรรณ ตามแบบของข้อบังคับ ระเบียบหรือประกาศแล้วแต่กรณี และ พิจารณาหลักการและการใช้ข้อความต่างๆ ให้ถูกต้องครบถ้วน โดยไม่ให้ขัดหรือแย้งกับระเบียบ ข้อบังคับอื่นๆ ของมหาวิทยาลัย จากนั้นจะเสนอร่างที่ได้ตรวจพิจารณา แล้วให้หน่วยงานที่เสนอเรื่องเข้ามาได้พิจารณาอีกครั้งว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์หรือไม่ ตลอดจนข้อความถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ เมื่อหน่วยงานเห็นชอบแล้วก็จะนำเสนอที่ประชุม ก.บ.ม.หรือสภามหาวิทยาลัยพิจารณาในลำดับต่อไป
2.3 กรณี เป็นร่างกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศ ที่เป็นการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมจาก กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศเดิมที่มีอยู่แล้ว จะพิจารณาตรวจสอบว่าเป็นการแก้ไขปรับปรุงเพียงเล็กน้อย หรือเป็นการแก้ไขปรับปรุงใหญ่ ถ้าเป็นการแก้ไขปรับปรุงเพียงเล็กน้อยก็จะยกร่าง กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับเป็นฉบับที่ 2 โดยกำหนดให้แก้ไขเฉพาะบางข้อที่มีการเสนอขอแก้ไข ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการแก้ไขปรับปรุงใหญ่ก็จะยกร่างกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศขึ้นใหม่ โดยกำหนดให้ยกเลิก กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือ ประกาศที่ใช้อยู่เดิมทั้งฉบับในการจัดทำร่าง กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศ ในทั้งสองกรณีจะจัดทำบัญชีหรือตารางเปรียบเทียบแสดงความแตกต่างของกฎระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศเดิมกับร่างใหม่ที่ต่างออกไป เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของที่ประชุม ก.บ.ม.และสภามหาวิทยาลัย สำหรับขั้นตอนการตรวจพิจารณาจะมีลักษณะเดียวกันกับที่กล่าวตาม 2.2
2.4 กรณีเป็นคำสั่ง จะพิจารณาตรวจสอบว่าเป็นคำสั่งเกี่ยวด้วยเรื่องใด อาทิ คำสั่งมอบอำนาจ คำสั่งมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนคำสั่งมอบหมายให้รักษาราชการแทน คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการด้านต่างๆ ซึ่งจะยกร่างคำสั่งโดยพิจารณากฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากการจัดทำคำสั่งผู้ออกคำสั่งจำต้องพิจารณากฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่ให้อำนาจไว้ด้วย ซึ่งเป็นสาระสำคัญในการจัดทำคำสั่ง มิฉะนั้นอาจทำให้คำสั่งนั้นเป็นคำสั่งที่ออกโดยปราศจากอำนาจตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายได้
ลักษณะงานเป็นการตรวจสอบถึงลักษณะและประเภทของสัญญาที่มหาวิทยาลัยจะกระทำต่อบุคคลภายนอก หรือหน่วยงานอื่น โดยในการพิจารณาต้องกำหนดประเภทของสัญญาว่าเป็นสัญญา ประเภทใด ทางราชการได้เคยกำหนดตัวอย่างของสัญญาประเภทนั้นๆ ไว้หรือไม่ ซึ่งลักษณะของสัญญาจำแนกไว้เป็น 2 ประเภท กล่าวคือ
3.1 สัญญาที่เป็นไปตามแบบ ได้แก่ สัญญาที่ทางมหาวิทยาลัย หรือทางราชการ ได้กำหนดลักษณะตัวอย่างของสัญญาเอาไว้ อาทิ สัญญาซื้อขาย สัญญาจ้าง สัญญาจ้างบำรุง สัญญาจ้างที่ปรึกษา หรือสัญญาจ้างผู้เชี่ยวชาญ ซึ่ง ก.ว.พ. ได้กำหนดลักษณะของสัญญาไว้ เป็นตัวอย่างท้ายระเบียบ ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 เป็นต้น ในการพิจารณาจะตรวจสอบว่า สัญญาที่หน่วยงานของมหาวิทยาลัย เสนอมาเป็นสัญญาประเภทใด หากเป็นสัญญาที่เป็นไปตามแบบก็จะพิจารณาถึงรายละเอียดต่างๆ ที่ระบุไว้ในสัญญาว่าครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่ มหาวิทยาลัยเสียเปรียบหรือไม่ ผู้มีอำนาจลงนามในสัญญานั้นคือใคร ซึ่งโดยหลักแล้วจะเป็นอธิการบดี เว้นแต่มี คำสั่งมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่น และประการสำคัญคือ ผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญา สามารถรับเงื่อนไขหรือปฏิบัติตามข้อกำหนด ในสัญญาได้หรือไม่ จากนั้นก็จะทำความเห็นเสนอต่ออธิการบดีเพื่อ พิจารณาให้ความเห็นชอบในการจัดทำสัญญานั้นๆ และลงนาม ในสัญญา หรือถ้ามีคำสั่งมอบอำนาจไว้ก็จะมอบให้หน่วยงานนั้นๆ นำไปดำเนินการต่อไป
3.2 สัญญาที่มิได้เป็นไปตามแบบ ได้แก่ ลักษณะของสัญญาที่มหาวิทยาลัย หรือทางราชการมิได้กำหนด ลักษณะของสัญญาขึ้นไว้ เป็นตัวอย่าง ซึ่งในการตรวจสอบพิจารณาลักษณะของสัญญาประเภทนี้ค่อนข้างจะต้องใช้ความ ละเอียดรอบคอบ โดยคำนึงถึง ความถูกต้อง และให้มหาวิทยาลัย ได้ประโยชน์จากข้อกำหนดในสัญญานั้นๆ มากที่สุด ลักษณะของสัญญาดังกล่าว อาจเป็นประเภท เดียวกัน กับสัญญาที่ เป็นไปตามแบบ แต่มีข้อกำหนดเฉพาะที่จะต้องนำมากำหนดเป็นข้อสัญญาขึ้นใหม่ หรือเป็นลักษณะ ของบันทึก ข้อตกลงต่างๆ ซึ่งขั้นตอนในการพิจารณานั้น จะต้องพิจารณาตั้งแต่รูปแบบ ข้อกำหนดในสัญญาตลอดจนรายละเอียดอื่นๆ ที่ต้องระบุไว้ ให้ชัดเจน ในสัญญานั้นๆ ซึ่งก็จะคล้ายกับการ พิจารณาประเภทของสัญญาที่เป็นไปตามแบบ และประการสำคัญคือ ผู้มีหน้าที่ ต้องปฏิบัติตามสัญญาต้องสามารถ รับเงื่อนไขหรือปฏิบัติตาม ข้อกำหนดในสัญญาได้ จากนั้นก็จะทำความเห็นเสนอ ต่ออธิการบดีเพื่อ ให้ความเห็นชอบและลงนามในสัญญา หรือถ้ามีคำสั่งมอบอำนาจไว้ก็จะ มอบให้ผู้รับมอบหรือ หัวหน้าหน่วยงาน ที่เสนอเรื่องเข้ามา นำไปดำเนินการต่อไป
การรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อดำเนินการทางคดีเป็นการประมวลข้อเท็จจริงของมูลคดีที่เกิดขึ้น ทั้งทางแพ่ง ทางอาญา ปกครอง ล้มละลาย และทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนประมวลพยานหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมูลคดีนั้นๆ โดยการได้มาซึ่งข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่างๆ นิติกรจะประสานงานกับหน่วยงานที่มีกรณีปัญหา จากนั้นจะสรุปข้อเท็จจริงและพยานเอกสารหลักฐานต่างๆ เสนอมหาวิทยาลัย โดยในมูลคดีอาญาที่เป็นความผิดต่อส่วนตัวจะต้องดำเนินการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่มูลคดีเกิดขึ้นภายใน กำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่อธิการบดีทราบถึงมูลคดีอาญานั้นๆ ในส่วนของคดีแพ่ง คดีปกครอง คดีล้มละลาย และคดีทรัพย์สินทางปัญญา จะนำเสนอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องร้องหรือแก้ต่างคดีแทนมหาวิทยาลัยในฐานะโจทก์หรือจำเลยแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ มีข้อควรคำนึงถึง คือ อายุความในการดำเนินคดีจะต้องระมัดระวังมิให้คดีขาดอายุความฟ้องร้อง อาทิ การดำเนินคดีกับผู้ผิดสัญญาลาศึกษาหรือผิดสัญญาจ้างก่อสร้างภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งสัญญาลาศึกษาสัญญารับทุนหรือสัญญาว่าจ้างดังกล่าวเป็นสัญญาทางปกครอง จะต้องฟ้องร้องดำเนินคดีภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผิดสัญญา เป็นต้น
เริ่มจากศาลมีคำพิพากษาให้มหาวิทยาลัยชนะคดีแล้ว มหาวิทยาลัยอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หากจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้ พนักงานอัยการจะขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี และเมื่อศาลได้ออกหมายบังคับคดีแล้ว พนักงานอัยการผู้ฟ้องคดีจะแจ้งเป็นหนังสือมาให้ดำเนินการสืบทรัพย์สินลูกหนี้ (จำเลย) เพื่อจะได้นำยึด / อายัดมาขายทอดตลอด เอาเงินชำระหนี้ต่อไป การสืบทรัพย์สินกระทำในขั้นตอนดังกล่าวหรือบางครั้งในระหว่างการดำเนินคดีของศาลชั้นต้น ถ้าโจทก์ (เจ้าหนี้) สามารถให้เบาะแสข้อมูลได้ว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินใด และทรัพย์สินนั้นอาจจะมีการถ่ายโอนไปให้ผู้อื่นโจทก์ (เจ้าหนี้) ก็อาจขอให้ศาลคุ้มครองสิทธิชั่วคราวโดยอาจยึด / อายัดทรัพย์นั้นๆ ไว้ชั่วคราวก่อนก็ได้
วิธีการสืบทรัพย์ มีดังนี้
1) สอบถามข้อมูลที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน (ทะเบียนราษฎร) ไปยังสำนักทะเบียนกลางกรมการปกครองหรือกรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ในกรณีลูกหนี้เป็นนิติบุคคล
2) ไปตรวจสอบสืบสวน ณ สถานที่นั้นๆ หรือสถานที่ใกล้เคียงเพื่อให้ได้ข้อมูลเบื้องต้นของการมีสถานภาพบุคคลเป็นเบื้องต้นว่าอยู่ ณ สถานที่นั้นจริง กรณีนี้แยกเป็น 2 ประเด็น
2.1) ชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน (จะในฐานะใดก็ตาม) และตัวอยู่ในบ้านจริงก็จะเข้าไปเจรจา หรือเฝ้าสังเกตความเป็นไปโดยเฉพาะทรัพย์สินในบ้าน
2.2) ชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน (ฐานะใดก็ตาม) แต่ตัวไม่ได้อยู่จริง เช่น การแจ้งย้ายชื่อมาอยู่บ้านผู้อื่นเพื่อหลีกหนีการติดตามเช่นนี้ ก็จะสอบถามเจ้าบ้านหรือผู้อยู่ในบ้านว่าผู้ใดอยู่บ้างเพื่อหาข้อพิรุธ และจดหรือสังเกตทรัพย์สินที่อาจจะเป็นของลูกหนี้ (จำเลย) ที่ซ่อนอยู่ เช่น ยานพาหนะต่างๆ เพื่อจะได้นำมาตรวจสอบทางทะเบียนต่อไป
3) จากการหาข้อมูลตาม ข้อ 2 บางครั้งได้เบาะแสร่องรอยการประกอบอาชีพหรือถิ่นที่อยู่ที่หลบซ่อนที่อาจสืบสวนขยายผลต่อไป หากลูกหนี้ (จำเลย) เป็นบุคคลที่อาจมีพิษภัย มีลักษณะอาชญากรก็จะขอความร่วมมือจากพนักงานสอบสวน (ตำรวจ) ให้ไปช่วยร่วมตรวจด้วยหรือแม้ลูกหนี้ (จำเลย) เป็นบุคคลธรรมดาแต่เวลาสถานที่ไม่เอื้ออำนวยในการสอบสวนสืบสวนก็อาจให้ข้อมูลตำหนิรูปพรรณ แหล่งข่าวเบื้องต้นเพื่อให้ตำรวจ ช่วยสืบสวนให้อีกทางหนึ่ง แล้วสอบถามหรือกลับมาเก็บข้อมูลเป็นระยะๆ
4) การสืบทรัพย์สินทางทะเบียนราชการจะใช้ในการตรวจสอบทรัพย์สินที่ต้องมีทะเบียนควบคุม เช่น ยานพาหนะ ที่ดิน สิทธิการเช่าโทรศัพท์ เงินฝากในธนาคาร ปกติจะกระทำปีละสามครั้ง แต่ในส่วนของธนาคารอาจมีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะหน่วยเก็บข้อมูลที่ถามไปจะปฏิเสธหรือภาคเสธทำนองเป็นความลับของลูกค้า
ผลการสืบทรัพย์
ถ้าได้ข้อมูลทางทรัพย์สินก็จะรายงานกรมบังคับคดี หาทางยึด หรือ อายัดทรัพย์นั้นๆ ต่อไป ถ้าได้ทราบเฉพาะความมีตัวตน (ยังมีชีวิตอยู่) และอาชีพ ถิ่นที่อยู่ ก็จะเก็บเป็นข้อมูลในสำนวน และรายงานให้กรมบัญชีกลาง ตามระยะเวลา 3-4 เดือนต่อครั้ง
การ ดำเนินการทางวินัยจะเริ่มตั้งแต่มีผู้กล่าวหา กล่าวหาข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้าง ของมหาวิทยาลัย ว่ากระทำความผิด ทางวินัย โดยการกล่าวหานั้นกระทำเป็นลายลักษณ์อักษรหรือทำเป็นหนังสือ เสนอต่อผู้บังคับบัญชาชั้นต้น โดยลำดับจนถึงหัวหน้า ส่วนราชการ นิติกรจะพิจารณาข้อกล่าวหานั้นๆ ว่ามีลักษณะอย่างไร เป็นข้อกล่าวหาซึ่งมีพยานหลักฐานเพียงพอ ที่จะชี้ชัดได้ว่าผู้ถูกกล่าวหา กระทำผิดวินัยจริงตามข้อกล่าวหา หรือไม่ ซึ่งมีขั้นตอนการพิจารณา กล่าวคือ
กรณีข้อกล่าวหานั้นมีมูลความผิดจริง ตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบัน อุดมศึกษา พ.ศ. 2547 หรือระเบียบ กระทรวงการคลังว่าด้วยลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ. 2537 ในบทวินัย หากเป็นมูลความผิดวินัยไม่ร้ายแรง และมีมูลว่า กระทำผิดจริง โดยอาจมีคำรับสารภาพของผู้ถูกกล่าวหาก็จะพิจารณา ว่ามูลความผิดในลักษณะดังกล่าว มหาวิทยาลัย เคยพิจารณาลงโทษ ในฐานใด ก็จะเสนอให้ มหาวิทยาลัยพิจารณาลงโทษ ในฐานเดียวกันหรือให้เป็นมาตรฐานแบบเดียวกัน โดยไม่จำต้อง แต่งตั้งคณะกรรมการ สอบสวนก็ได้
กรณีข้อกล่าวหานั้นๆ ไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะลงโทษผู้ถูกกล่าวหาได้ ก็จะเสนอต่อมหาวิทยาลัย เพื่อมอบให้ผู้ถูกกล่าวหาได้โต้แย้ง หักล้างข้อกล่าวหาและชี้แจงว่าข้อเท็จจริงตามข้อกล่าวหานั้นเป็นประการใด หรือ อาจทำความเห็นเสนอต่อมหาวิทยาลัย เพื่อแต่งตั้ง คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว ในการดำเนินการสอบสวนจะรวบรวมพยานหลักฐานทั้งที่เป็นเอกสารและบุคคล คำให้การต่างๆ นำมาประมวลเข้าด้วยกัน และสรุปว่าข้อเท็จจริงตามข้อกล่าวหานั้นเป็นประการใด หากพิจารณาแล้ว ไม่มีมูลความผิด ทางวินัยก็จะเสนอต่อมหาวิทยาลัย เพื่อยุติเรื่องที่สอบสวนหรือมีมูลความผิดทางวินัย ไม่ร้ายแรงก็จะเสนอต่ออธิการบดี เพื่อพิจารณา ลงโทษตามมาตรฐานที่เคยลงไว้ โดยทำคำสั่งลงโทษเสนออธิการบดีลงนามและรายงานให้สภามหาวิทยาลัยเพื่อทราบ แล้วแจ้งให้ ผู้ถูกกล่าวหาทราบต่อไป
ทั้งนี้ ในกรณีที่เห็นว่าพฤติการณ์เป็นความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง และจะเสนอลงโทษทางวินัย ในการดำเนินการสอบข้อเท็จจริง เรื่องดังกล่าว จะต้องให้หลักประกันความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหา ตามกฎหมาย ว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง โดยควรดำเนินการ เป็นขั้นตอนตามหลักเกณฑ์ และวิธีการสอบสวน พิจารณา ที่กำหนดในกฎ ก.พ. ฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2540) ข้อ 14 และข้อ 15 โดยอนุโลม
กรณีพิจารณาแล้วปรากฏว่ามีมูลความผิดวินัยร้ายแรง ก็จะเสนอต่อมหาวิทยาลัยเพื่อแต่งตั้ง คณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง และดำเนินการขั้นตอนการสอบสวนที่กำหนดไว้ในกฎ ก.พ. ฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2540) ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา เมื่อการสอบสวน เสร็จสิ้นแล้วจะเสนอสำนวนการสอบสวนต่ออธิการบดี เพื่อพิจารณาสั่งการ กรณีที่ต้องมีการลงโทษทางวินัยก็จะจัดทำ คำสั่งลงโทษ เสนออธิการบดีลงนาม จากนั้นให้รายงานสภามหาวิทยาลัยเพื่อทราบ แล้วแจ้งผู้ถูกกล่าวหาทราบต่อไป
7.1 เรื่องอุทธรณ์ของข้าราชการ
(1) กรณีอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยไม่ร้ายแรง ได้แก่ ภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน ลดขั้นเงินเดือน ให้อุทธรณ์ต่อสภามหาวิทยาลัย ภายในสามสิบวัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำสั่ง การอุทธรณ์และการ พิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. ฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2540) ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์มาบังคับใช้โดยอนุโลม
(2) กรณีอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยร้ายแรง ให้อุทธรณ์ต่อ ก.พ.อ. ภายใน สามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
7.2 เรื่องร้องทุกข์ของข้าราชการ
กรณีเมื่อมีข้าราชการผู้ใดเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือมีความคับข้องใจ เนื่องจากการกระทำหรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ข้าราชการผู้นั้นอาจร้องทุกข์ต่อสภามหาวิทยาลัยได้ภายในสามสิบวัน นับแต่วันได้รับแจ้งถึงการกระทำหรือได้รับคำสั่ง โดยการร้องทุกข์ และการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์เป็นไปตามกฎ ก.พ. ฉบับที่ 17 และฉบับที่ 22 ว่าด้วยเรื่องร้องทุกข์และ การพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ ซึ่งนำมาบังคับใช้โดยอนุโลม
7.3 เรื่องอุทธรณ์ของลูกจ้างประจำ
เมื่อลูกจ้างประจำผู้ใดถูกสั่งลงโทษตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยลูกจ้าง ประจำ ของส่วนราชการ พ.ศ. 2537 ให้มีสิทธิอุทธรณ์ได้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง โดยให้ยื่นอุทธรณ์ต่อ อ.ก.ม.มหาวิทยาลัย การอุทธรณ์และ การพิจารณา อุทธรณ์ เป็นไปตาม หนังสือกระทรวงการคลังที่ กค 0527.6/ว 50 ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2541
7.4 เรื่องร้องทุกข์ของลูกจ้างประจำ
ลูกจ้างประจำผู้ใดเห็นว่าผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติต่อตนโดยไม่ ถูกต้อง หรือไม่ปฏิบัติต่อตน ให้ถูกต้องตามกฎหมาย หรือ มีความคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาต่อตน ผู้นั้นอาจร้องทุกข์ได้ภายในสามสิบวัน นับแต่วันทราบคำสั่ง โดยยื่น ร้องทุกข์ต่ออธิการบดีหรือปลัดกระทรวงเจ้าสังกัดหรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัด แล้วแต่กรณีว่าเหตุร้องทุกข์เกิดจากผู้บังคับบัญชาในระดับใด โดยการร้องทุกข์และการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธี การที่กระทรวงการคลังกำหนด ตามหนังสือ กระทรวงการคลังที่ กค 0527.6/ว 51 ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2541
เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นกับ ทรัพย์สินของทางราชการ ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตหรือการ สูญหาย หรือเสียหายก็ตาม โดยการสูญหายหรือเสียหายนั้นจะเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือจงใจหรือ เป็นการกระทำของบุคคลภายนอก ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างในสังกัดของมหาวิทยาลัยก็ตามขั้นตอน ในการพิจารณาจะพิจารณาจากเรื่องที่หน่วยงานรายงานเหตุการณ์เข้ามาว่า กรณีความสูญหายหรือเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น ปรากฏตัวผู้รับผิดทางละเมิดแล้วหรือไม่ หรือมีผู้รับผิดในความเสียหาย ที่เกิดขึ้นแล้วหรือไม่ หากว่ายังไม่ปรากฏตัวผู้กระทำให้เกิดความสูญหายหรือเสียหายนั้น หรือยังไม่มีผู้รับผิดในความสูญหายเสียหายดังกล่าว ก็จะเสนอ มหาวิทยาลัย เพื่อดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิด ของเจ้าหน้าที่ ตามขั้นตอนดังนี้
8.1 เหตุแห่งความเสียหาย มีเหตุอันควรเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน ให้เสนออธิการบดี แต่งตั้งคณะกรรมการ สอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด
8.2 คณะกรรมการฯ พิจารณาดำเนินการสอบสวน โดยรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ทั้งจากเอกสารและบุคคล ตลอดจนหลักฐาน การแจ้งความ ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจจัดทำแผนที่เกิดเหตุ และภาพถ่ายสถานที่เกิดเหตุ
8.3 คณะกรรมการฯ ประมวลหลักฐานต่างๆ ที่รวบรวมได้ ประกอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพื่อทำความเห็นในเรื่องนั้นๆ ว่ากรณีต้องมี ผู้รับผิดทางละเมิดหรือไม่ หากไม่ปรากฏว่าความสูญหายเสียหายนั้นเกิดจากการ กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่าง อย่างร้ายแรง ของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้าง ก็จะทำความเห็นเสนอต่ออธิการบดี เพื่อพิจารณา ให้ยุติเรื่องแล้วรายงาน ให้กระทรวงการคลัง พิจารณาหรือหากปรากฏตัวผู้รับผิด ซึ่งจะต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ก็จะทำความเห็นเสนอต่อมหาวิทยาลัย ว่าผู้ต้องรับผิด ทางละเมิด คือใคร และจะต้องชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างไรแล้วรายงานให้กระทรวงการคลัง พิจารณา การรายงานให้กระทรวงการคลัง พิจารณา เป็นกรณีทรัพย์สินที่สูญหายเสียหายเกินกว่า 500,000 บาท หากไม่เกิน 500,000 บาท ไม่ต้องรายงานให้กระทรวงการคลัง พิจารณา แต่ต้องรายงานเพื่อทราบ ตามประกาศที่กระทรวงการคลัง
การดำเนินการกับผู้ผิดสัญญาลาศึกษา เป็นเรื่องที่บุคลากรได้ทำสัญญาลาศึกษา ทั้งในประเทศ หรือต่างประเทศ ให้ไว้ต่อมหาวิทยาลัย และอาจมีสัญญารับทุนการศึกษาประเภทต่างๆ รวมอยู่ด้วย แต่บุคลากร ดังกล่าวผิดสัญญาหรือ ไม่ปฏิบัติ ให้เป็นไปตามสัญญา อาทิ ลาออกจากการศึกษา ยุติการรับทุน ลาออกจากราชการ เป็นต้น ซึ่งสัญญาที่บุคลากรทำไว้กับมหาวิทยาลัย มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง ซึ่งจะต้องฟ้องร้องดำเนินคดี ภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่บุคลากรผิดสัญญา ซึ่งในการดำเนินการ มีขั้นตอน ดังนี้
9.1 กองทรัพยากรมนุษย์จัดส่งข้อมูลการไปศึกษา ฝึกอบรม หรือการรับทุนของผู้ผิดสัญญาลาศึกษามาให้สำนักงานกฎหมายพิจารณา โดยกองคลังของมหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานผู้ให้ทุนจะคำนวณยอดเงิน ที่ผู้ผิดสัญญาลาศึกษาจะต้องชำระมาด้วย
9.2 สำนักงานกฎหมาย ทวงถามไปยังผู้ผิดสัญญาลาศึกษาตามที่อยู่ที่ให้ไว้พร้อมกับกำหนดระยะเวลาใน การให้ผู้ผิดสัญญานำเงินมาชำระ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
9.3 เมื่อพ้นเวลาที่กำหนดผู้ผิดสัญญามิได้ชดใช้ตามที่แจ้งไปจะทวงถามไปอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับทวงถามไปที่ผู้ค้ำประกันสัญญาด้วย
9.4 กรณีมีข้อขัดข้อง อาทิเช่น หนังสือทวงถามตามข้อ 9.2 ไม่ถึงผู้รับ สำนักงานกฎหมายจะแก้ปัญหาโดยดำเนินการขอตรวจสอบข้อมูลกับสำนักทะเบียนกลาง (ทะเบียนราษฎร) เพื่อให้ได้ข้อมูลที่อยู่เป็นปัจจุบันแล้วดำเนินการไปใหม่ตามขั้นตอนข้อ 9.2 และ ข้อ 9.3
9.5 กรณีผู้ผิดสัญญาลาศึกษาได้รับหนังสือทวงถามแต่โต้แย้งข้อมูลการคำนวณเงิน สำนักงานกฎหมายจะเสนอข้อโต้แย้งให้กองคลัง ผู้ให้ทุน หรือกระทรวงการคลังพิจารณาทบทวนแล้วแต่กรณี เมื่อปรากฏผลออกมาเป็นข้อยุติ จะแจ้งไปยังผู้ผิดสัญญาลาศึกษาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้นำเงินมาชำระตามยอดหนี้ที่ได้ข้อยุตินั้นแล้ว
9.6 กรณีที่แจ้งภาระหนี้ไปแล้ว ผู้ผิดสัญญาลาศึกษาปฏิเสธไม่ชำระหนี้ สำนักงานกฎหมายจะรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน เพื่อเสนอมหาวิทยาลัยขอความอนุเคราะห์อัยการสูงสุดฟ้องร้องดำเนินคดีปกครองต่อไป
9.7 ในระหว่างการดำเนินการ หากผู้ผิดสัญญาลาศึกษามีการเสนอผ่อนชำระหนี้จะจัดทำหนังสือรับสภาพหนี้และผ่อนชำระตามเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด และถ่ายสำเนาหนังสือให้กองคลังไว้เป็นข้อมูล
9.8 รายงานผลการดำเนินการ โดยสรุปขั้นตอนการดำเนินการตาม 9.1- 9.7 แจ้งให้กระทรวงการคลังทราบต่อไป
9.9 เงินที่เรียกได้จากผู้ผิดสัญญาลาศึกษาหรือสัญญารับทุน ในส่วนของเงินทุน ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ในส่วนของเบี้ยปรับ และดอกเบี้ย ให้นำเข้าเป็นรายได้ของมหาวิทยาลัย